ฆ้องสามย่าน ๒

Kalanchoe integra (Medik.) Kuntze

ชื่ออื่น ๆ
ทองสามย่าน (กลาง)
ไม้ล้มลุกหลายปี มักไม่แตกกิ่ง ลำต้นและใบอวบน้ำ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปขอบขนานรูปไข่กลับ รูปใบหอก หรือรูปช้อน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ช่อย่อยแบบช่อกระจุก เรียงคล้ายช่อเชิงหลั่น ดอกสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้มผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว รูปขอบขนานแกมรูปไข่ เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก

ฆ้องสามย่านชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูง ๑-๒ ม. มีรากแก้วใหญ่ ลำต้นอวบน้ำ รูปทรงกระบอกหรือเป็นเหลี่ยมมน ตั้งตรงหรือโคนต้นโค้งแล้วตั้งตรงมักไม่แตกกิ่ง เกลี้ยงหรือส่วนบนของลำต้นมีขนต่อมสั้น ๆ ลำต้นเมื่อแก่กลวง ปล้องที่อยู่ตอนล่างสั้นกว่าปล้องที่อยู่ตอนบน

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปขอบขนาน รูปไข่กลับ รูปใบหอก หรือรูปช้อน กว้าง ๒.๕-๑๒.๕ ซม. ยาว ๔-๓๐ ซม. ปลายมน โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียวขอบหยักมน จักฟันเลื่อย หยักซี่ฟัน หรือจักฟันเลื่อยสองชั้น ใบที่อยู่ตอนบนขอบเรียบ แผ่นใบหนาอวบน้ำเกลี้ยงหรือมีขนต่อมสั้นนุ่ม ก้านใบยาว ๐.๕-๒ ซม. หรือไร้ก้าน โคนก้านใบกว้างค่อนข้างโอบหุ้มลำต้น ใบที่อยู่ตอนล่างมีก้านใบยาว ใบมักร่วงตอนดอกบานหรือก่อนดอกบาน

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ช่อย่อยแบบช่อกระจุก เรียงคล้ายช่อเชิงหลั่น มีดอกมาก ค่อนข้างแน่น ช่อย่อยที่อยู่โคนช่อออกตรงข้ามกันและแผ่กางออก แกนกลางช่อดอกเกลี้ยงหรือมีขนต่อมสั้น ๆ ก้านดอกยาว ๔-๘ มม. เกลี้ยงหรือมีขนต่อม กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ ยาว ๐.๔-๑.๒ ซม. โคนเชื่อมติดกันประมาณ ๑ มม. ปลายแยกเป็นแฉกลึก ๔ แฉก รูปไข่แคบหรือรูปใบหอก กว้าง ๑-๓ มม. ยาว ๐.๓-๑.๑ ซม. ปลายแหลมตั้งตรงหรือกางออก แฉกเกลี้ยง มีขนครุยสั้น หรือมีขนต่อมทางด้านนอก กลีบดอกสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้มโคนกลีบสีเขียวและเชื่อมกันเป็นหลอดรูปน้ำเต้า ยาว ๑-๒ ซม. ตอนล่างของหลอดโป่งพองออกข้างเดียวปลายหลอดแคบเข้า แล้วแยกเป็นแฉก ๔ แฉก กางออกหรือโค้งพับลงเล็กน้อย รูปรีแกมรูปไข่หรือรูปไข่กลับกว้าง ๒-๕ มม. ยาว ๐.๗-๑.๓ ซม. ปลายแหลมเป็นติ่งสั้น โค้งลง หลังจากดอกบานแล้วแฉกจะตั้งตรงและบิดม้วนเข้าด้วยกัน แฉกกลีบดอกเกลี้ยงหรือมีขนครุยสั้นด้านนอกมีขนต่อมสั้นนุ่ม เกสรเพศผู้ ๘ เกสร ติดอยู่บนหลอดกลีบดอก เรียงเป็น ๒ ชั้น ก้านชูอับเรณูสั้น เกลี้ยงอับเรณูอยู่ภายในหลอดกลีบดอกหรือโผล่พ้นหลอดกลีบดอกเล็กน้อย โคนหลอดมีต่อม ๔ ต่อม รูปแถบ ยาว ๓.๕-๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๔ รังไข่ ทรงรูปไข่ยาว ๐.๕-๑ ซม. แนบชิดกัน แยกจากกันตลอด หรือตอนโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย แต่ละรังไข่เกลี้ยง มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก อยู่ต่ำกว่าเกสรเพศผู้

 ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว มี ๔ ผลอยู่ชิดกัน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว ๑-๑.๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลม เมื่อผลแก่จะโค้งลงเล็กน้อย เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก

 ฆ้องสามย่านชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค พบขึ้นตามภูเขาหินปูนที่โล่งแจ้ง ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย บราซิล ในเขตร้อนและตอนใต้ของแอฟริกา

 ประโยชน์ ต้นและใบเป็นสมุนไพร ใบเป็นพิษต่อสัตว์ มีสารที่มีสมบัติเป็นยาฆ่าแมลง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ฆ้องสามย่าน ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Kalanchoe integra (Medik.) Kuntze
ชื่อสกุล
Kalanchoe
คำระบุชนิด
integra
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Medikus, Friedrich Kasimir
- Kuntze, Carl Ernst Otto
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Medikus, Friedrich Kasimir (1736-1808)
- Kuntze, Carl Ernst Otto (1843-1907)
ชื่ออื่น ๆ
ทองสามย่าน (กลาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา